ทำชาวบ้านเดือดร้อน แขวงฯ ภูเก็ตเปิดเกาะกลางไม่ถูกจุด ขอ “เทมส์ ไกรทัศน์” ช่วยตามเรื่องให้ หลังยื่นหนังสือแล้วแต่ยังเงียบ
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 ชาวบ้านหมู่ที่ 10 ซอยยอดเสน่ห์ 1 ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ร่วมให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน และนายเทมส์ ไกรทัศน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติพัฒนากล้า ที่ลงมารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ กรณีมีการสร้างเกาะกลางถนน และเปิดจุดยูเทิร์นที่ไม่เหมาะสม โดยไปเปิดจุดยูเทิร์นบริเวณซอยยอดเสน่ห์ 2 ที่มีคนอาศัยอยู่ไม่มาก และถนนแคบ วงเลี้ยวไม่พอสำหรับรถใหญ่ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางสัญจร เกิดอุบัติเหตุบ่อย โดยชาวบ้านได้ยื่นหนังสือถึงแขวงทางหลวงภูเก็ต เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่เรื่องยังเงียบ ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากแขวงทางหลวงภูเก็ตแต่อย่างใด จึงขอพึ่งสื่อ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติพัฒนากล้า ให้ช่วยติดตามความคืบหน้ากรณีชาวบ้านได้ทำหนังสือถึงแขวงทางหลวงจ.ภูเก็ต ให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน
ชาวบ้าน กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหา โดยขอเปิดจุดยูเทิร์นบริเวณซอยปรารถนา และซอยยอดเสน่ห์ 1 เพื่อให้การเข้าออกของชาวบ้านสะดวกขึ้น และรถขนาดใหญ่จะสามารถเลี้ยวได้สะดวก รวมทั้งบริเวณซอยยอดเสน่ห์ 1 เป็นเส้นทางที่จะเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวของฉลอง และวัดพระใหญ่ ซึ่งการเปิดจุดนี้จะส่งผลดีในหลายเรื่อง
ด้านนายเทมส์ ไกรทัศน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้าน ทราบว่า ชาวบ้านหมู่ที่ 10 ซอยยอดเสน่ห์ 1 และชาวบ้านในพื้นที่ฉลอง ราไวย์ กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเกาะกลาง และการเปิดจุดยูเทิร์นของทางหน่วยงานรัฐ ซึ่งตนได้รับการร้องเรียนให้ช่วยติดตามคำร้องที่กลุ่มชาวบ้านได้รวบรวมรายชื่อกว่า 180 คน ยื่นให้แขวงทางหลวงภูเก็ต เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านได้รับแจ้งว่า จะได้รับการคำตอบภายใน 7 วัน แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบความคืบหน้า จึงอยากทวงถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าโครงการต่างๆ ที่ทำได้มีการสอบถามชาวบ้านก่อนแล้วยังว่าควรจะเปิดบริเวณใดเพื่อให้เกิดความเหมาะสม และไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน
นายเทมส์ กล่าวต่อไปว่า เกาะกลางถนนเป็นหลักการที่ดีเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ และระเบียบเรียบร้อย แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น และบริบทพื้นที่ก็สำคัญไม่แพ้กัน แน่นอนว่าโครงการเป็นไปตามข้อกำหนดระเบียบกฎหมาย แต่หากทำแล้วได้ทั้งถูกกฎหมายและตรงใจชุมชนก็ทำให้เกิดประโยชน์สาธารณะสูงสุดในทุกด้าน
และผมหวังให้ “การรับฟังความเห็นประชาชนไม่เป็นเพียงพิธีกรรม” ว่าหน่วยงานได้ทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 แล้ว แต่ควรทำโดยกระบวนการที่คำนึงถึงความเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบ “อย่างแท้จริง” ปัญหาความเข้าใจและผลกระทบต่างๆ จะได้ไม่เกิดหรือเกิดน้อยที่สุด ซึ่งเรื่องนี้อยากให้หน่วยงานช่วยชี้แจงและสร้างความเข้าใจแก่พ่อแม่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบว่าทำได้หรือไม่อย่างไร ชาวบ้านจะได้เกิดความสบายใจ